บทความสั้น
คลัสเตอร์โควิด-19
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | พฤษภาคม 2564

“คลัสเตอร์โควิด (Cluster) ใช้เรียกกรณีตรวจพบผู้ติดโควิด-19 ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในรอบ 14 วัน โดยทุกคนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และอาจมีช่วงเวลาสัมผัสใกล้กัน โดยจะใช้คำว่าคลัสเตอร์เรียกแหล่งที่มาของติดโรคนั้น”[1]

ที่น่าสนใจคือ คลัสเตอร์โควิด-19 ในเรือนจำ ซึ่งเกิดการระบาดตั้งแต่ปี 2562 ในบางแห่ง เช่น ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สะเดา จ.สงขลา แต่ก็สามารถจัดการได้ แต่ในเดือนพฤษภาคม 2564 เริ่มพบว่ามีการระบาดหนักในกลุ่มผู้ต้องขัง รวมทั้งเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมากอีกครั้ง 

ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ต้องขังในเรือนจำที่มากมายขนาดนี้ เกิดจากการปูพรมตรวจเชิงรุกในแต่ละเรือนจำ ทำให้พบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แม้ว่าเรือนจำจะมีมาตรการป้องกัน ด้วยการเพิ่มการคัดกรองอาการของผู้ต้องขังแรกรับ งดการเยี่ยมญาติในช่องทางปกติตามสถานการณ์ในพื้นที่ งดการนำผู้ต้องขังออกไปทำงานภายนอกเรือนจำ ทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ เช่น เรือนนอน พาหนะรับส่งผู้ต้องขังไปศาล จัดอ่างล้างหน้าพร้อมสบู่ประจำห้องน้ำ โรงครัว โรงอาหาร เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม กรณีผู้ต้องขังใหม่ รวมทั้งผู้ต้องขังออกตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และกลับจากศาล เปรียบเสมือนเป็นผู้ต้องขังใหม่ ให้แยกกักเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน ทุกราย และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา[4]

ทั้งนี้ ความเป็นอยู่ในเรือนจำก็มีความแตกต่างจากโลกข้างนอก ซึ่งคำแนะนำของการป้องกันตนเองจากโควิด-19 คือ ต้องเว้นระยะห่าง การรักษาสุขอนามัย การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ หรือที่เรียกว่า new normal แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยากในเรือนจำ

ข้อแนะนำ “การเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร” แต่ในขณะที่การอยู่ในเรือนจำในพื้นที่จำกัดกับจำนวนคนที่มาก ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ซึ่งจะได้ยินบ่อยๆ ก่อนหน้านี้ว่า “คนล้นคุก” มีความแออัดในเรือนจำ ความเพียงพอของหน้ากากอนามัย รวมทั้งต้องใช้สิ่งของร่วมกันด้วย เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ทั้งนี้เมื่อเกิดการระบาด ทำให้การแยกตัวออก หรือกักกันโรคทำได้ยากกว่าอยู่นอกเรือนจำ รวมทั้งข้อจำกัดการเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้วย เช่น เครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอต่อจำนวนความต้องการใช้ในผู้ป่วยหนัก

การดูแลผู้ต้องขังที่ติดเชื้อในเรือนจำในขณะนี้ กรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมโรค ใช้วิธีการกักกัน "คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า (Bubble and seal)" ไปก่อน และมีความพยายามที่จะแยกแดนผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ผลตรวจยังเป็นลบ[5] รวมทั้งพยายามฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มนี้เป็นกรณีเร่งด่วนด้วย

การระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ถือว่าเป็นโจทย์ยากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหานี้ในบ้านเรา มีหลายประเทศที่ประสบปัญหานี้มาแล้ว เช่น ประเทศอิหร่าน อินเดีย อิรัก สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เป็นต้น เราคงต้องถอดบทเรียนและนำมาปรับใช้ในประเทศอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประชากรทุกกลุ่มในประเทศไทย


[1] https://hdmall.co.th/c/cluster-covid
[2] https://www.thairath.co.th/news/local/2070095
[3] https://www.sanook.com/news/8387498/
[4] https://www.thaipost.net/main/detail/97307
[5] https://www.bbc.com/thai/thailand-57167759


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333