ในชีวิตของมนุษย์ แมลง เป็นสิ่งรบกวน เป็นแหล่งเชื้อโรค และสร้างความรำคาญใจให้มนุษย์อยู่ไม่น้อย ถึงกับต้องตบตี ใช้สารเคมีมาฉีดพ่นให้ตาย หรือหาทางกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ในระบบห่วงโซ่อาหาร แมลง มีคุณมหาศาลต่อมนุษย์ เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญ บางชนิดก็มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และยังเป็นผู้ช่วยผลิตอาหาร โดยการผสมเกษรของพืชผัก ผลไม้ ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ตั้งแต่ใบไม้ไปจนถึงซากพืชซากสัตว์ บนโลกเราจึงมีพืชพรรณที่หลากหลายไว้เป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ทั่วโลก การมีแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตรงกันข้ามเมื่อแมลงสูญหาย อาจเป็นหายนะที่มนุษย์จะต้องพบในไม่ช้า
งานวิจัยในต่างประเทศกว่า 70 ชิ้นวิเคราะห์ พบว่า ประชากรแมลง บนโลกนี้ กำลังล่มสลาย (Insect apocalypse)1 โดยมีจำนวนลดลง 1 ต่อ 4 ทุกๆ 10 ปี ด้วยน้ำมือมนุษย์2 การสูญเสียแมลงไปแต่ละชนิดเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าแมลงที่หายไปนั้นทำหน้าที่อะไรหรือมีประโยชน์ต่อพืชและสัตว์อื่นอย่างไร ในเยอรมนี พบว่า แมลงในพื้นที่คุ้มครองลดลงถึงร้อยละ 75 ส่วนประเทศไทย มีการศึกษาชนิดแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ เมื่อปี 2551-2552 ในป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และศึกษาจากตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์ พบแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ 3 อันดับ 12 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อ3 นอกจากนี้ มีการศึกษาในภาคใต้ของไทยเกี่ยวกับแมลงหายากใกล้สูญพันธุ์ ระหว่างปี 2553-2558 พบว่ามีแมลงหายากและใกล้สูญพันธุ์ ทั้งหมดถึง 45 ตัวอย่าง จำแนกได้ 6 ชนิด จึงมีการรวบรวมนำมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ผีเสื้อร่อนลมสยาม จำนวน 5 ตัวอย่าง ผีเสื้อค้างคาว 12 ตัวอย่าง ด้วงดินปีกแข็ง 9 ตัวอย่าง หิ่งห้อยยักษ์ 4 ตัวอย่าง หิ่งห้อยไดอะฟาเนส 6 ตัวอย่างและตั๊กแตนขาหนาม 9 ตัวอย่าง4 สถานการณ์ที่แมลงลดจำนวนลงและใกล้สูญพันธุ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพอากาศของโลก และกิจกรรมของมนุษย์
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้แมลงลดลงหรือสูญพันธุ์ ส่วนกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำร้ายแมลง ได้แก่ การทำเกษตรเข้มข้นเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี (ยาฆ่าแมลง) และอุตสาหกรรมที่มีการถางเผาและทำลายพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ ทำให้แมลงที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์สูญหายและส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เช่น การระบาดของแมลงศัตรูพืช เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้นทำให้แมลงเผาผลาญพลังงานเร็วขึ้นและรู้สึกหิวโหยมากขึ้น จึงต้องการอาหารจำนวนมากเพื่อรองรับการเผาผลาญพลังงาน และเมื่อศึกษาเชิงทดลอง จึงมีการพยากรณ์ว่า แมลงจะกินพืชผลทางการเกษตรและทำลายผลผลิตอาหารของโลกถึงร้อยละ 10 ก่อนที่พืชจะโตพอเก็บเกี่ยวได้5 นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แสงไฟประดิษฐ์หลากสีตอนกลางคืน เป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตของแมลง และทำให้แมลงจำนวนมากสูญพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ขัดขวางการหาคู่ของหิ่งห้อย เปลี่ยนการรับรู้กลางวันกลางคืนของจักจั่น รบกวนแมลงชีปะขาวในการใช้แสงของตัวเองหาแหล่งน้ำเพื่อวางไข่ เป็นต้น และเมื่อแมลงเล่นไฟ ก็มักจะกลายเป็นเหยื่อของ หนู นก จิ้งจก ค้างคาว และแมงมุม ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อาหารเสียสมดุล เพราะการถูกล่ามากเกินไปทำให้ประชากรแมลงสูญพันธุ์5 ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารเมื่อแมลงหายไป จะเกิดกับสัตว์หลายชนิดที่กินแมลงเป็นอาหาร ทำให้สัตว์เหล่านี้ขาดอาหารและล้มตายเป็นทอดๆ ที่สำคัญโลกจะขาดแหล่งผลิตอาหาร โดยเฉพาะผีเสื้อผสมเกสร ที่หลายชนิดหายากและใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นทุกที
แม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว แต่ยังมีแนวทางที่พอจะช่วยให้ชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้ ได้อยู่คู่มนุษย์โลกต่อไปได้ คือ ต้องมีการจัดการพื้นที่การเกษตรด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เช่น รักษาแหล่งธรรมชาติรอบ ๆ พื้นที่การเกษตร ลด/งดการใช้สารเคมี ปลูกพืชที่หลากหลาย ส่วนในเขตเมืองควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อให้แมลงสำคัญได้อาศัยอยู่และเติบโตได้6 อย่างไรก็ตามการจะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ตระหนักว่า แมลง มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเรามากเพียงใด
ฝูงตั๊กแตนระบาดในแปลงเกษตรและทำลายพืชผลของเกษตรกรในกรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ประเทศเนปาล
ภาพ: https://english.onlinekhabar.com/a-swarm-of-locusts-are-likely-to-come-to-nepal-why-is-it-a-concern-for-country.html
อ้างอิง