ความมั่นคงทางอาหาร คือ สภาวะที่ทุกคน และทุกช่วงเวลาเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะด้วยความสามารถทางกายภาพหรือเศรษฐกิจก็ตาม อีกทั้งอาหารที่ได้รับจะต้องปลอดภัย มีคุณค่าด้านโภชนาการต่อร่างกาย เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและตอบสนองได้อย่างเหมาะสม โดยมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้ แก่ 1) การได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ 2) การเข้าถึงอาหาร ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง บนพื้นฐานของโภชนาการที่ดี 3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร ตามหลักทางด้านของความปลอดภัยและสุขอนามัย 4) การมีเสถียรภาพด้านอาหาร โดยบริหารจัดการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตฉุกเฉินต่างๆ1
แต่ปัจจุบัน ราคาอาหารได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร อันเป็นผลพวงมาจากหลายสาเหตุ อาทิ เครือข่ายอุปทานโลกประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางเรือและโลจิสติกส์สูงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงาน ธัญพืชและปุ๋ยเคมีกระชากตัวขึ้น อีกทั้งอุปสงค์ของสินค้าและบริการในหลายประเทศฟื้นตัวขึ้นภายหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารในหลายภูมิภาคทำให้หลายประเทศประสบภาวะขาดแคลนอาหาร โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ในปี 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เมื่อเทียบกับปี 2563 และถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 และในปี 2565 ดัชนีราคาอาหารยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือนเมษายน 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับเมษายนปีก่อน2
ราคาอาหารที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร เพราะต้นทุนด้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนที่สูงของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในประเทศที่มีรายได้น้อย โดย FAO ระบุว่า อาจมีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและขาดแคลนมากถึง 1,800 ล้านคน ส่วน Global Report on Food Crises 2022 ได้รายงานว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงเกือบ 40 ล้านคน
สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก พบว่า ทวีปแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก การผลิตธัญพืชลดลงอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ภัยพิบัติ และภาวะความขัดแย้งในหลายประเทศ ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น สำหรับทวีปเมริกาใต้ เฮติและเวเนซูเอลา กำลังประสบปัญหาใหญ่ อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเวเนซูเอลามีผู้อพยพออกจากประเทศ 6.04 ล้านคน และในจำนวนนี้ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารประมาณ 3.5 ล้านคน ส่วนประเทศเฮติ มีปัญหาเรื่องการลดลงของผลผลิตทางการเกษตรจากภัยธรรมชาติและความวุ่นวายทางการเมือง ส่วนประเทศในเอเชียหลายประเทศ ประสบภาวะวิกฤตความไม่มั่นคงด้านอาหาร จากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ข้าวหรือผลผลิตทางการเกษตรไม่เป็นไปตามเป้า โดยประเทศในเอเชียที่กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ เกาหลีเหนือ อิรัก เลบานอน เมียนมา ปากีสถาน ซีเรียและเยเมน เป็นต้น3 ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงระงับหรือจำกัดการส่งออกพืชอาหารบางชนิดชั่วคราว เช่น อียิปต์ห้ามส่งออกข้าวสาลี ถั่ว น้ำมันพืช อาร์เจนตินาระงับการส่งออกกากถั่วเหลืองและเนื้อวัว อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี ส่วนอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารหลายชนิด เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ผลไม้เมืองร้อน และอาหารทะเล เป็นต้น แค่ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2565 ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.1% ทั้งนี้ ราคาอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) เพิ่มขึ้น 6.18% โดยหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นถึง 10.45%4 ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ในอนาคต ประเทศไทยและโลกยังประสบความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารจากปัจจัยต่างๆ อีก ได้แก่ ประชากรโลกที่ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่ด้านการเกษตรลดลง ปัญหาขาดแคลนน้ำในหลายประเทศ แรงงานด้านการเกษตรที่น้อยลงจากการอพยพเข้าสู่เมือง และการบริโภคในปัจจุบันที่มีการสูญเสียอาหารจนเกิดเป็นขยะอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะความเสี่ยงดังกล่าว ประเทศไทยและโลกควรกำหนดแนวทางการรับมืออย่างไร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร? โปรดติดตามตอนต่อไป
อ้างอิง