การหลุดออกจากโรงเรียนของเด็ก แม้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามช่วยเหลือและป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจนและครอบครัวที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ข้อมูลในปี 2563 พบสัดส่วนของเด็กวัยเรียน (6-17 ปี) ที่มีสถานะ "เคยเรียนหนังสือแต่ปัจจุบันไม่ได้เรียนแล้ว" ภาพรวมทั่วประเทศลดลง แต่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กของครอบครัว 20% จนที่สุด โดยเฉพาะเด็กโตอายุ 15-17 ปี หรือกลุ่มที่ควรเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย
ภายใต้ความ (ไม่) พร้อมของสถานศึกษา ของผู้สอนและของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ที่แตกต่างกัน การปิดโรงเรียนช่วงการแพร่ระบาดและปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบผสมผสานตามแนวทาง 5-On ของกระทรวงศึกษาธิการ (online, on-site, on-hand, on-air และ on-demand) ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างกันไปด้วย ในภาพรวม ปัญหาที่ประสบมากที่สุดของเด็กและครอบครัวที่ต้องเรียนออนไลน์ คือ เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิ ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และความไม่พร้อมของอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต การศึกษาหนึ่งได้ประเมินว่าการปิดโรงเรียนของไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ถึงเดือนมีนาคม 2564 น่าจะส่งผลต่อการถดถอยทางการเรียนรู้ (learning loss) ของเด็กไทยถึงร้อยละ 2.5 และมีผลต่อการสูญเสียรายได้ในระยะยาว (earning loss) ร้อยละ 1.1 ซึ่งหากนำข้อมูลจำนวนวันการปิดโรงเรียนตั้งแต่ช่วงเมษายนจนถึงสิ้นปี 2564 ที่การแพร่ระบาดค่อนข้างรุนแรงในหลายพื้นที่มาร่วมประเมินด้วย ตัวเลขการสูญเสียข้างต้นน่าจะสูงกว่านี้มากพอสมควร
หมายเหตุ เด็กวัยเรียน หมายถึง ประชากรเด็กในช่วงอายุ 6-17 ปี ระดับเศรษฐานะ (quintiles) ของครัวเรือนพิจารณาจากระดับค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัว ต่อเดือนของครัวเรือน
ที่มา ประมวลจากข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน พ.ศ. 2562 และ 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
หนึ่งข้อสังเกตุที่น่าสนใจแต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยหรือไม่ คือ รายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศที่น่าจะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ข้อกังวลผลกระทบข้างต้น แต่กลับพบว่ายังคงมีแนวโน้มลดลงเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณรายจ่ายภาครัฐไทยทั้งหมดและต่อจีดีพีของประเทศ