ภาวะทุพโภชนาการ หมายถึง การที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม สำหรับเด็กเล็ก ในอดีตปัญหาทุพโภชนาการมักหมายถึงภาวะผอมแห้งหรือภาวะเตี้ยแคระแกร็นจากการขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในเชิงสาธารณสุข เพราะการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการต่างๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญาของเด็ก จึงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเสมอมา
อย่างไรก็ตาม ภาวะทุพโภชนาการนั้น ไม่ได้หมายถึงการขาดสารอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการได้รับสารอาหารหรือพลังงานมากเกินไปด้วย ซึ่งนำมาสู่ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนที่กำลังเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของเด็กในยุคปัจจุบัน
เด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน มีความเสี่ยงที่จะมีโรคแทรกซ้อน เช่นภาวะเบาหวานในเด็ก มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติ นอกจากนั้นเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะมีโอกาสเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตต่อไปในอนาคต
จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่าในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย (ยกเว้นภาคใต้) สัดส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีมากกว่าสัดส่วนเด็กที่มีภาวะผอมแห้ง เด็กในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนน้ำหนักเกินสูงสุดในทุกภูมิภาคที่ 17% และสูงกว่าสัดส่วนเด็กที่มีภาวะผอมแห้งมากกว่า 3 เท่าตัว
ที่น่าสังเกต คือเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ เด็กเกือบ 1 ใน 5 ของกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาการได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มที่มีขนาดพอๆ กันกลับได้รับพลังงานเกินความจำเป็นของร่างกาย
อนามัยแม่และเด็ก เป็นหนึ่งในหมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ ที่สะท้อนให้เห็นสุขภาพคนไทยในมิติต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ ท่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้แล้ววันนี้ ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ค่ะ
ภาพประกอบโดย