บทความสั้น
แรงงานข้ามชาติในยุคโควิด-19 : ก้าวข้ามการแยกเขาแยกเรา สู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่าง (พิศิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน)
สถานการณ์เด่น | มิถุนายน 2565

แรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ว่ารัฐไทยจะมีมุมมองแบ่งเขาแบ่งเราในเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แต่ในด้านสาธารณสุข ได้มีพัฒนาการในเชิงบวกต่อแรงงานข้ามชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีการขยายระบบสุขภาพที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศ ปัจจุบันบริการสาธารณสุขสำหรับแรงงานข้ามชาติในไทย มาจากงบประมาณ 2 แหล่ง คือ

  1. งบประมาณกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวภายใต้ระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งบริหารจัดการโดย 2 หน่วยงานหลัก คือ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ที่ดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชากรต่างด้าวภายใต้ระบบประกันสุขภาพ
  2. งบประมาณภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เช่น งบประมาณแผนปฏิบัติการระดับชาติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ ด้านสาธารณสุขชายแดน ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) งบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์แบบบูรณาการ (พ.ศ. 2562) และงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพชาวต่างชาติ (พ.ศ. 2562) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ เนื่องจากยังไม่มีบัตรประกันสุขภาพและต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อาจมีสาเหตุมาจาก การเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน การขาดความรู้ความเข้าใจในด้านหลักเกณฑ์การขอมีบัตร และสิทธิประโยชน์ของการมีบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้ป่วยต่างชาติที่ไม่มีบัตรประกันใดและไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ทำให้หน่วยบริการอาจต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเอง1  ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มจึงยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายระบบสุขภาพของไทย

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้มีผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  จนเกิดเป็นวิกฤตด้านสุขภาพของไทย มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 หลายประการ อาทิ การควบคุมการเดินทาง การปิดประเทศ การปิดสถานบริการ การกักตัวผู้ป่วย เป็นต้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็เร่งจัดหาวัคซีน ซึ่งในระยะแรกไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเจ็บป่วยจำนวนมาก วิกฤตด้านสาธารณสุขดังกล่าว ทำให้แนวคิดแบ่งเขาแบ่งเราแสดงออกมาอย่างชัดเจนจากวิธีการปฏิบัติของของรัฐไทยต่อชาวต่างชาติในไทยซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติ โดยในระยะแรกรัฐไทยมีนโยบายชัดเจนที่มุ่งช่วยเหลือคนไทย แต่กีดกันคนต่างชาติทั้งในแง่ของการรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีน รวมถึงการดูแลทางมนุษยธรรมอื่นๆ รวมทั้งมีการกล่าวโทษว่าแรงงานข้ามชาติเป็นผู้ทำให้เกิดการระบาดของโรค ซึ่งปัญหานี้ถูกซ้ำเติมจากการลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามชาติโดยผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัญหาทางการเมืองในประเทศเมียนมาก็ทำให้มีผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศมากขึ้นด้วย การเข้าไม่ถึงวัคซีนและบริการด้านสาธารณสุขของแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดระลอกแรกๆ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ของการระบาดโควิด-19 ในหลายพื้นที่ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติหนาแน่น เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ตลาดสด และแคมป์คนงานก่อสร้าง เป็นต้น จนขยายเป็นวงกว้างออกไป

ต่อมาเมื่อการระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรกลดลงในปี 2563 ประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎต่างๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในช่วงดังกล่าวที่สถานการณ์ค่อนข้างสงบ รัฐบาลกลางไม่ได้ทำงานเชิงรุกในการป้องกันควบคุมโรคล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรับมือกับการระบาดของโรคในระลอกต่อๆ ไป แม้แต่การจัดการปัญหาในพื้นที่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานต่างๆ ขาดการทำงานในเชิงรุกที่สอดประสานกัน ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สองและสาม จึงเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก และเกิดปัญหาคอขวดในระบบบริการสาธารณสุข จนต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ เช่น การตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

ท่านสามารถอ่านเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่
https://www.thaihealthreport.com/th/situation_ten.php?id=209&y=2565&bm=
โดย ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่าง (พิศิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน)


อ้างอิง

  1. จิราลักษณ์ นนทารักษ์. (2563, 20 กรกฎาคม). รูปแบบระบบบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย : งบประมาณการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.  https://www.hsri.or.th/media/issue/detail/12735

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333