ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายแรงงานข้ามชาติของรัฐไทยถูกครอบงำด้วยแนวคิด “การแยกเขาแยกเรา” มาโดยตลอด แนวคิดนี้มองคนไทยและชาวต่างชาติแตกต่างกัน ทำให้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้รัฐไทยปฏิบัติต่อคนไทยและชาวต่างชาติแตกต่างกัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ในที่สุดได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโรคระบาดไม่ได้สนใจเรื่องสัญชาติหรือเชื้อชาติ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิติดโรคระบาดทั้งสิ้น ดังนั้นการก้าวข้ามการแบ่งเขาแบ่งเราเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการบริหารจัดการและการวางแผนในการการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด -19
ในอดีตแรงงานถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของเมือง บ่อยครั้งที่สงครามเกิดขึ้นเพื่อขยายอาณาเขตและเพิ่มจำนวนประชากรในปกครอง ผู้ชนะสงครามของนครรัฐต่างๆ ย่อมกวาดต้อนประชากรจากเมืองของผู้แพ้สงครามมาเติมพลเมืองของตนเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการทหารและเศรษฐกิจ พงศาวดารของราชธานีใหญ่ในอุษาคเนย์ต่างบันทึกเหตุการณ์การกวาดต้อนเชลยสงครามจากรัฐผู้แพ้สงครามเสมอมา และเมืองผู้ชนะสงครามก็จะนำแรงงานเหล่านั้นมาสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองตนเอง แม้กระทั่งนำมาเป็นทหารด้วยซ้ำ พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ ได้บันทึกการกวาดต้อนพลเมืองจากอาณาจักรขอมโดยกองทัพกรุงศรีอยุธยา ดังนี้ “ศักราช ๘๐๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๘๗) เสด็จไปปราบพรรค แลตั้งทัพหลวง ตำบลปะทายเขษม ครั้งนั้นได้เชลย ๑๒๐,๐๐๐ ทัพหลวงเสด็จกลับคืน” 1,2 ผลของสงครามครั้งนี้ปรากฏในเอกสารทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายอยุธยาตรงกันว่าเมืองพระนครหลวงหรือยโสธรปุระ นครธมและเมืองเสียมเรียบกลายเป็นเมืองร้างอยู่ยาวนาน โดยมีการกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง นักปราชญ์ราชบัณฑิต พราหมณ์ ประชากร รวมถึงทรัพย์สมบัติ รูปศิลปกรรมต่างๆ ด้วย โดยเหล่าปัญญาชนที่อยุธยากวาดต้อนมานี้ได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งในแง่ของการปกครองและวรรณกรรม และมีส่วนในการสร้างความเจริญแก่กรุงศรีอยุธยาในกาลต่อมา
ในทางกลับกัน อาณาจักรอื่นก็ได้มากวาดต้อนพลเมืองของกรุงศรีอยุธยาเช่นกันเมื่อชนะสงคราม มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว บันทึกว่า “...ควบคุมรวบรวมพลทหารพลเมืองอยุทธยา 106,100 คน มอบแบ่งให้นายทัพนายกองเสร็จแล้ว ….. สีหะปะเต๊ะแม่ทัพได้ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุทธยาไปยังกรุงรัตนบุระอังวะ .... แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้....พระราชวงษ์พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาที่เปนเจ้าหญิงทั้งปวงนั้นทรงจัดให้สร้างวังเอาเข้าไว้ในมหาพระราชวังหลวง แต่พระราชวงษานุวงษ์แลขุนนางข้าราชการแลพลเมืองพลทหารอยุทธยาทั้งปวงนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังแลทำเย่าเรือนเคหาอยู่ตามภูมิลำเนานอกกำแพงพระราชวัง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ เลี้ยงดูให้อยู่เปนศุขทุกคน มิให้ร้อนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ...” ผลของการกวาดต้อนครั้งนั้นทำให้อังวะรับเอาข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ และศิลปวัฒนธรรมของอยุธยาไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตนเอง และสร้างสรรค์ดนตรี งานสถาปัตยกรรม และศิลปะชั้นสูงของพม่าจนตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน 4,5,6
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า แรงงานเป็นทรัพย์สินมีค่าของเมือง การกวาดต้อนประชาชนจากเมืองผู้แพ้ไม่ได้เพื่อนำไปทรมานหรือใช้เป็นแรงงานทาสเป็นหลัก แต่มีการคัดเลือกไพร่ที่จะกวาดต้อนและนำไพร่ไปใช้แรงงานตามความชำนาญและหน้าที่เดิมที่ตนเองเคยทำ เพื่อสร้างความเจริญให้กับเมืองใหม่ที่ตนเองไปอยู่ เมื่อย้ายมาอยู่เมืองใหม่หากคนต่างชาติผู้นั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถก็สามารถไต่เต้าขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงได้ เช่นเดียวกับชาวต่างชาติจากดินแดนต่างๆ ที่ย้ายถิ่นเข้ามาในราชอาณาจักร ในประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมาก็พบว่ามีขุนนางระดับสูงที่เป็นชาวต่างชาติมากมาย เช่น เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด กุมมี) ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งขุนนางต่างชาติในตำแหน่งพระอัยการนาพลเรือนและนาทหารหลายตำแหน่ง ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน มีขุนนางชาวต่างชาติมากมายที่รับราชการในระดับสูง เช่น พระยาเจ่งรามัญที่อพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระยามหาโยธา ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง เจ้าพระยาอภัยราชา หรือ กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ ที่ปรึกษาราชการการแผ่นดินทั่วไปชาวเบลเยี่ยมในสมัยรัชการที่ห้า พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศชาวสหรัฐฯ ในสมัยรัชกาลที่หกและรัชกาลที่เจ็ด เป็นต้น ทั้งนี้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ การย้ายถิ่นของผู้คนจากดินแดนอื่นเข้ามาในสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันสามารถทำได้โดยเสรี จนกระทั่งสยามเริ่มออก พ.ร.บ. คนเข้าเมืองในปี 2470 นโยบายของสยามในอดีตที่ผ่านมาหลายร้อยปีมักใช้นโยบายพหุสังคมทางวัฒนธรรม ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม
ท่านสามารถอ่านเรื่องราวฉบับเต็มได้ที่
https://www.thaihealthreport.com/th/situation_ten.php?id=209&y=2565&bm=
โดย ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่าง (พิศิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน)
อ้างอิง