บทความสั้น
น้ำท่วมซ้ำซาก ผลกระทบ และการปรับตัว (ตอนที่ 1)
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2565

ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและรุนแรงอยู่บ่อยครั้งมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฤดูมรสุมระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน หลายครั้งได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชนจำนวนนับล้านคนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล เช่น ในปี 2485 เกิดน้ำท่วมที่เป็นตำนาน กินพื้นที่กว่า 40 จังหวัด ในปี พ.ศ. 2538 เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2554 เกิดมหาอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจนับล้านล้านบาท และในปี พ.ศ. 2564 เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกในพื้นที่กว่า 30 จังหวัด กินอาณาบริเวณนับล้านไร่ เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงประสบปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายจำนวนมากซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาอย่างไร? บทความนี้จะอภิปรายถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อไทย การบริหารจัดการน้ำท่วมของไทย อาทิ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย อดีตถึงปัจจุบัน

ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและรุนแรงบ่อยครั้งมาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายฤดูมรสุมระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งอิทธิพลของลมมรสุมก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา หลาย ๆ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในอดีตได้ถูกบันทึกและเป็นที่จดจำถึงความเสียหายและความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนเก็บกักขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 พื้นที่มากกว่า 40 จังหวัดของประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ต้องประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงและยาวนาน และในปี พ.ศ. 2538 เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่จากอิทธิพลของลมพายุที่พัดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ต่อมาได้เกิดมหาอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โดยธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้สูงกว่า 1.425 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาล1,2  วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้หลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของภัยพิบัติน้ำท่วมและวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม 

ในปี 2564 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกพัดเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในแถบประเทศอินโดจีนได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และประเทศไทย และก่อให้เกิดน้ำท่วมตามมาในแถบภูมิภาคนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในแถบภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแบบฉับพลัน (flash flood) จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)3 พบว่า พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมครอบคลุมจังหวัดทางภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัด และภาคกลางตอนบน 9 จังหวัด4 นอกจากนี้ ยังเกิดน้ำท่วมไหลหลากในบริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคิดเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกว่า 2 ล้านไร่ ดังแสดงในรูปที่ 1 และผลการศึกษาโดยคณะวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ5 ได้รายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ชลประทานของโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ณ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564 สูงถึง 942,694 ไร่ พื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นพื้นที่รับน้ำนอง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังติดต่อกันเป็นเวลานาน สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และสร้างความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตรซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว


รูปที่ 1 แสดงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในประเทศไทยจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ในปี พ.ศ. 2564
(หมายเหตุ: สีน้ำเงิน–พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมระหว่างวันที่ 24–30 กันยายน 2564
สีฟ้า–พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมระหว่างวันที่ 1–9 ตุลาคม 2564)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัจจัยทางธรรมชาติหลักอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2564 ผนวกกับความผิดปกติของปรากฏการณ์ทางอุทกวิทยาที่เกิดขึ้นเกือบพร้อมกันในช่วงระยะเวลาสั้นและรวดเร็ว (concurrent events) ทั้งจากพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพัดพาดผ่านในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use change) ที่แตกต่างไปจากอดีตในพื้นที่ทางด้านเหนือเขื่อน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ (reservoir inflow) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนเก็บกักขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุเก็บกักอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว นอกจากนี้ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงลักษณะกายภาพในบริเวณพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อนยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชลศาสตร์การไหลของน้ำ (hydraulic behavior) ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนอย่างมีนัยสำคัญ 

มาตรการในการรับมือโดยหน่วยงานภาครัฐในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2564 ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในอดีต ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนด้วยการลดปริมาณการระบายน้ำและเพิ่มการเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในเขื่อนเก็บกักขนาดใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ และเพิ่มปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนเก็บกักขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อน การเพิ่มปริมาณระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาเพื่อเร่งระบายน้ำเหนือที่ไหลบ่าลงมาออกสู่ทะเล เร่งการผันน้ำส่วนเกินเข้าพื้นที่รับน้ำนองผ่านระบบคลองส่งน้ำเพื่อตัดยอดน้ำและลดความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้น และเพิ่มการชะลอน้ำสำหรับใช้ในการทำเกษตรกรรมในช่วงเพาะปลูกฤดูแล้ง หากไม่มีปริมาณน้ำไหลจากส่วนอื่นๆ เข้ามาสมทบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (global climate change) ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกและผิวน้ำทะเล (increased temperature) และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ (increased climate variability) ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติน้ำทั้งอุทกภัย (flood) และภัยแล้ง (drought) ที่มีความถี่และความรุนแรงของการเกิดเหตุการณ์สูงขึ้น โดยเกิดวิกฤตน้ำท่วมและภัยแล้งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เช่นที่สหราชอาณาจักร6 และจีน7 รวมถึงประเทศไทยที่สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันในช่วงปี พ.ศ. 2561–2563 ตามมาด้วยน้ำท่วมรุนแรงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ปัญหา และรับมือ รวมถึงปรับตัวเพื่อลดผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคตอันใกล้นี้ 

จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อฐานทรัพยากรน้ำในประเทศไทยพบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวม และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อรูปแบบและความรุนแรงของการเกิดฝนและพายุฝน (changes in rainfall and storm pattern and severity) ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (International Panel on Climate Change: IPCC) ได้คาดการณ์ว่า พื้นที่ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิดปรากฏการณ์ทางอุทกวิทยาพร้อมๆ กันหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง (intense flood) ปัญหาการระบายน้ำท่วม (flood drainage) และเหตุการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge)8 นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยหลายๆ การศึกษาให้ข้อสรุปถึงแนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ย (mean temperature) ที่เพิ่มสูงขึ้น9 เช่น มีการประมาณการว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2513–2550 เพิ่มสูงขึ้น +0.024 องศาเซลเซียสต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษาและวิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลปริมาณฝนรายฤดูกาลยังพบว่า จำนวนวันฝนตกในช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ค่าความเข้มฝนเฉลี่ยในวันฝนตกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น10 ประกอบกับมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 1.8 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2504–2546 สูงขึ้นเป็น 3.1 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2536–2546 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำทะเล การกัดเซาะและการทำลายระบบนิเวศในแถบพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทยอีกด้วย11


อ้างอิง

  1. Poaponsakorn, N., & Meethom, P. (2013). Impact of the 2011 floods and flood management in Thailand. ERIA Discussion Paper Series, ERIA–DP–2013–34.
  2. Global Water Partnership. (2017). The 2011 Thailand floods in the Lower Chao Phraya River Basin in Bangkok Metropolis. Stockhome: Sweden
  3. Geo–Informatics and Space Technology Development Agency (GISTDA). (2022, January 16). Flood map. https://flood.gistda.or.th/
  4. ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชลบุรี และตราด และภาคกลางตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี
  5. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. (2564). พายุเตี้ยนหมู่กับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ปี พ.ศ. 2564 จากบทบาทการขับเคลื่อนงานวิจัย SIP ด้านการบริหารจัดการน้ำ. โครงการวิจัยเข็มมุ่ง แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 2.
  6. ในปี 2563 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี ในประเทศอังกฤษ โดยมีการรายงานข่าวว่ามีการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมมากกว่า 5,600 ครั้ง อีกทั้งแนวโน้มระดับน้ำใต้ดินยังลดลงต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ
  7. ในปี 2563 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงและส่งผลกระทบพื้นที่บริเวณกว้างทางตอนใต้และแถบลุ่มน้ำแยงซีของประเทศจีน และยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำในปี 2564 ในเขตมณฑลเหอหนาน จากสาเหตุของความผิดปกติของปริมาณน้ำฝน ในขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนน้ำจากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของปี พ.ศ. 2564 ในประเทศจีนยังส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 1.51 ล้านคนในเขตมณฑลกานซู และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและปริมาณฝนตกน้อยติดต่อกันยาวนาน
  8. Thanasupsin, S.P. (2022, January 16). Climate change impacts on water resources : key challenges to Thailand CC adaptation. https://www.rid.go.th/thaicid/_5_article/7symposium/7th-13.pdf
  9. Kiguchi, M., Takata, K., Hanasaki, N., Archevarahuprok, B., Champathong, A, Ikoma, E., & et. al. (2021). A review of climate–change impact and adaptation studies for the water sector in Thailand. Environ. Res. Lett., 16(2021), 023004
  10. Endo, N., Matsumoto, J., & Lwin, T. (2009). Trends in precipitation extremes over southeast Asia. SOLA, 5, 168–71.
  11. Thanasupsin, S.P. (2022, January 16). เรื่องเดียวกัน.

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333