หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการกำกับดูแลหลักสื่อโทรทัศน์ มี 3 หน่วยงาน คือ 1) ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 2) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และ 3) สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. ดังนี้
1. ศรป. เป็นหน่วยงานที่ อย. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยตรง เน้นการทำงานเชิงรุก แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ตลอดเส้นทาง เมื่อมีการร้องเรียนหรือพบปัญหาดังกล่าว ศรป. จะสืบหาข้อเท็จจริงว่าผู้ใดเป็นผู้โฆษณาหรือเผยแพร่โฆษณาชิ้นนั้น จากนั้นจึงส่งหนังสือสั่งระงับโฆษณาให้กับผู้ที่กระทำความผิดควบคู่กับการส่งหนังสือเสนอให้สำนักงาน อย. อนุมัติดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเพื่อนำมาเปรียบเทียบปรับตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการดำเนินคดีที่มีโทษจำคุกจะส่งเรื่องต่อไปยัง บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ระยะเวลาการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีอาจเพียงหนึ่งวันหรือหลายสิบวัน1 อย่างไรก็ตาม อย. อาจขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ หรือเฟซบุ๊ก ให้จัดการระงับ หรือ นำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออกจากระบบให้ การขอความร่วมมือในลักษณะนี้จะทำให้สามารถจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้นยิ่งกว่ากระบวนการทางกฎหมาย
การส่งคดีต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้กระบวนการจัดการปัญหากับผู้กระทำความผิดล่าช้า เนื่องจากเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน แต่หากกฎหมายให้อำนาจ อย. สามารถเปรียบเทียบปรับและมีบทกำหนดโทษในอัตราที่สูงได้ จะช่วยให้กระบวนการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายผ่านสื่อออนไลน์จบลงได้รวดเร็วขึ้น และอาจยับยั้งไม่ให้ผู้กระทำความผิดทำผิดซ้ำได้อีก เนื่องจากมีโทษปรับที่ค่อนข้างสูงจนผู้ที่กำลังจะกระทำความผิดเกิดความกลัว ปัจจุบัน บทกำหนดโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น มีบทลงโทษที่น้อยเกินไป เช่น พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีบทลงโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท2
นอกจากนี้ ในส่วนของบุคคลมีชื่อเสียงนั้นก็ควรจะมีกฎหมายหรือใบประกอบวิชาชีพเพื่อมาควบคุมบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือ มีบทลงโทษกรณีที่ทำผิดจรรยาบรรณเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น เนื่องจากบทกำหนดโทษทางกฎหมายยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งไม่ให้ทำผิดซ้ำได้ อีกทั้ง อย. ควรต้องกลับมาพิจารณาและปรับปรุงข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่ออกไป เพื่อให้บุคคลที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทราบข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง
2. บก.ปคบ. กองกำกับการ 4 เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดูแลและบังคับใช้กฎหมายเรื่องอาหารและยา จะรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในกรณีที่มีโทษจำคุก ซึ่ง อย. ไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ จึงต้องส่งเรื่องร้องเรียนมายัง บก.ปคบ. เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. แล้ว บก.ปคบ. จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ การสืบสวน และ การสอบสวน กรณีที่มีโทษปรับเพียงอย่างเดียวจะทำเพียงการสืบสวนและพิจารณาจากหลักฐานที่ ศรป. ร้องเรียนเข้ามาและระบุมาว่าจะให้ดำเนินคดีกับผู้ใด จากนั้นจึงออกหมายเรียกผู้กระทำความผิดและสั่งปรับตามที่กฎหมายกำหนด3 หากออกหมายเรียกแล้วผู้กระทำความผิดไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับต่อไป นอกจากนี้ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องขอ ศรป. หาผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้าไปสอบสวน เพื่อให้ระบุว่าส่วนใดที่เป็นข้อความเกินจริง ส่วนระยะเวลาการดำเนินการเฉลี่ยของคดีต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากมีความแตกต่างกัน และหากมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เข้ามาเพื่อใช้ดำเนินคดีด้วยจะทำให้คดีล่าช้าไปอีก
3. กสทช. มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ) กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการใดๆ ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ให้ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าว และ มีอำนาจปรับทางปกครองไม่เกินห้าล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง4
การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ดังกล่าว ไม่รวมถึงสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider: ISP) หากในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายได้พิจารณาว่าการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตใดมีความผิดตามกฎหมาย อาจประสานให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสกัดกั้นการเข้าถึงได้ ทั้งนี้ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยทางเทคนิคในภาพรวมที่เป็นข้อจำกัดในการสกัดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น เช่น กรณีข้อมูลจากต่างประเทศ หรือกรณีข้อมูลบน Social media platform
จาก MOU ที่ กสทช. ทำร่วมกับกับ อย. และอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีการดำเนินการร่วมกันเพื่อตรวจสอบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายของ อย. ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี และวิทยุ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยทำงานทั้งในเชิงรับเรื่องร้องเรียน และเชิงรุก โดยเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบการออกอากาศรายการหรือการโฆษณา รวมถึงบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการทางปกครอง ส่วนการพิจารณาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ ให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยให้ผู้ประกอบกิจการพิสูจน์ว่า ถ้อยคำในการออกอากาศรายการหรือการโฆษณานั้น มิได้เป็นการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค5
ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการกำกับดูแลของ กสทช. มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1). เนื่องจากกิจการโทรทัศน์มีจำนวนมาก ทั้งในเชิงจำนวนของสถานีโทรทัศน์และเวลาการออกอากาศ อาจทำให้การตรวจสอบและการเฝ้าระวัง ไม่มีความครอบคลุม 2). กระบวนการทางปกครองมีวิธีการตามกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้โดยทันที จึงอาจทำให้การจัดการปัญหาทำได้ล่าช้ายิ่งขึ้น และ 3). การหารายได้ทางธุรกิจเป็นเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้โฆษณา ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ นักแสดง Influencer ฯลฯ ทำให้ถึงแม้มีความเข้าใจ แต่ก็ยังคงมีการกระทำความผิดซ้ำๆ อีกได้
เพื่อจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล องค์กรต่างๆ และภาคประชาสังคม ควรพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและแนวปฏิบัติ ดังนี้
การโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อโทรทัศน์และทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปมากเท่าไหร่ ปัญหาโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและแนวปฏิบัติ เพื่อให้เท่าทันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจรัฐและมาตรการกฎหมายเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จำเป็นต้องใช้อาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจ และภาคประชาชนด้วย รวมทั้งการเปิดเผยฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา และคำโฆษณาที่มีการขออนุญาตไว้ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเกินจริงโดยง่าย