บทความสั้น
ปลดล็อกกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม (ตอนที่ 2)
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่างแรก (ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น)
สถานการณ์เด่น | มกราคม 2565

ปลดล็อก 100% หรือยัง?

ปัจจุบันแม้ กัญชา กัญชง และกระท่อม จะไม่ใช่พืชต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป แต่การใช้พืชทั้ง 3 ยังมีบรรดากฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ ที่ออกมาภายใต้กฎหมายเดิมยังคงมีผลต่อการควบคุมต่อไปจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกมาแทน โดยเฉพาะ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 25631 ที่ยังมีการควบคุม กัญชา และ กัญชง ไว้  

โดยในส่วนของ กัญชา  เมล็ด และช่อดอก ยังคงเป็นยาเสพติดตามประกาศนี้ แต่ส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด คือ ใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก สารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบ และต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เช่นเดียวกับ กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัด และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

ขณะที่ กัญชง ตามประกาศนี้ ห้ามแต่เพียงช่อดอก ส่วน เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง สารสกัดจากเมล็ดกัญชง เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก  ใบ สารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบ และต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เช่นเดียวกับ กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัด และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ได้รับการยกเว้น ซึ่งทั้งหมดนี้เฉพาะการผลิตภายในประเทศที่ต้องขออนุญาตเท่านั้น ห้ามมีการนำเข้ายกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง 

ส่วนกระท่อม ปัจจุบันถือได้ว่ามีการปลดล็อกทั้งหมดแล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  (ฉบับที่2) พ.ศ. 25642  ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ถอนพืชกระท่อมออกจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขสามารถปลูกเพื่อใช้ภายในครัวเรือนได้ แต่หากนำไปเป็นส่วนผสมของอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์ ยังต้องขออนุญาตจาก อย. นอกจากนี้รัฐบาล อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ขึ้นมาควบคุม เช่น ห้ามขายใบกระท่อม3 (ใบพืชกระท่อม รวมถึงสารสกัดที่ได้จากใบพืชกระท่อม) น้ำต้มกระท่อม ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร  ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านเครื่องขาย  ห้ามบริโภคใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมถึงวัตถุอันตรายต่างๆ หากฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษ

กระท่อม กัญชง กัญชา ในสหรัฐฯ 

จากข้อมูลการใช้กัญชง/กัญชาในต่างประเทศ ของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 25624 พบว่า  สหรัฐอเมริกา มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องในกฎหมายระดับท้องถิ่น (State law) 44 รัฐ และ 1 เขตการปกครองที่อนุญาตให้ใช้อย่างถูกกฎหมายตามลักษณะและขอบเขตของรัฐนั้น โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. ใช้เพื่อสันทนาการ จำนวน 10 รัฐ และ 1 เขตการปกครองพิเศษ ได้แก่ อะแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, เมน, แมสซาชูเซตส์, มิชิแกน, เนวาดา, ออริกอน, เวอร์มอนต์, วอชิงตัน, และวอชิงตัน ดี.ซี.
  2. ใช้เพื่อการแพทย์จำนวน 34 รัฐ

ส่วนกัญชง พบว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีแผนการสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกกัญชงในอนาคต โดยกฎหมาย Farm Bill 2018 อนุญาตให้ใช้กัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมอบอำนาจให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เป็นผู้ดูแลควบคุมการปลูก สกัด ขณะที่กระท่อม ข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนตุลาคม 25645 พบว่า  พืชกระท่อมเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายใน 44 รัฐ ผู้บริโภคสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพืชกระท่อมได้จากร้านค้าและช่องทางออนไลน์ ในขณะที่มี 6 รัฐ และ 4 เมือง ที่กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และพบว่ายังเป็นข้อถกเถียงในสหรัฐ6 โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) กำลังขอความเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะสนับสนุนการแบนกระท่อมระหว่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติ (UN) กำลังพิจารณาผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ สำนักงานควบคุมสารเสพติด (DEA) ของสหรัฐได้ประกาศให้กระท่อมเป็นสารควบคุมประเภทที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยห้ามนำไปใช้ในทางการแพทย์และห้ามใช้ในทางที่ผิด โดย DEA ระบุว่าใบกระท่อมเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยฉุกเฉินปีละหลายร้อยคน โดยมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและใช้เกินขนาด

ผลทางเศรษฐกิจ 

จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 25677 ปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทยักษ์ใหญ่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของโลก สนใจที่จะใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้คาดว่า ในระยะข้างหน้า มูลค่าตลาดกัญชาโลกจะเติบโตและกระจายไปในหลายธุรกิจมากขึ้น โดยข้อมูลจาก องค์การเภสัชกรรม8 พบว่า ราคาการรับซื้อช่อดอกแห้งเกรด A ปริมาณสารสำคัญ CBD มากกว่าร้อยละ 12 (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 45,000 บาท เกรด B ปริมาณสารสำคัญ CBD ร้อยละ10 – 11.9 (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 37,500 – 43,125 บาท ปริมาณสารสำคัญ CBD ร้อยละ 8-9.9 (โดยน้ำหนัก) กิโลกรัมละ 30,000 - 35,625 บาท 

เช่นเดียวกับกัญชง ที่นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย เปิดเผยว่า9 ในปี 2565 โครงสร้างราคากลางในการซื้อ-ขายกัญชง ราคาช่อดอกแห้งจากการปลูกระบบปิด (Indoor) ที่ตรงตามเงื่อนไขมาตรฐานการรับซื้อจะเริ่มต้นที่ 24,000 – 32,000 บาท /กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 8 – 9.9% ไปจนถึงราคา 45,000 – 90,000 บาท/ กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 14% ขึ้นไป  และราคาช่อดอกแห้งจากการปลูกระบบกึ่งปิด (Green House) ที่ตรงตามเงื่อนไขมาตรฐานการรับซื้อจะเริ่มต้นที่ 5,000 – 12,000 บาท /กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 5 – 7.9% ไปจนถึงราคา 15,000 – 40,000 บาท/ กิโลกรัม ในระดับสาร CBD 10% ขึ้นไป เป็นต้น

ปัจจุบัน การปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. โดยผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน เป็นต้น และจากมูลค่าราคาจะเห็นได้ว่า กัญชา - กัญชง สามารถสร้างรายได้มหาศาล ทั้งในระดับชุมชนและในระดับอุตสาหกรรม โดยระดับชุมชน มีการรวมตัวของวิสาหกิจชุมชน 7 คนขึ้นไปยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชาผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องและทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข  วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น นำผลผลิตส่งโรงพยาบาลเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ผ่านการรับซื้อโดยองค์การเภสัชกรรม ช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และส่งแปรรูปส่วนอื่นๆ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก มาเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาปรุงอาหาร สร้างรายได้อย่างมาก 

นายไกรราช เล่าเกษตรวิทย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสุขฤทัยเกษตรปลอดภัย อ.หวยคต จ.อุทัยธานี เปิดเผยว่า10 ทางวิสาหกิจชุมชนฯ ร่วมกันปลูกแบบปลอดสารพิษอยู่ 1 โรงเรือน 50 ต้น สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาได้อย่างหลากหลาย เช่น กล้วยฉาบ มันฝรั่ง มันม่วง มันญี่ปุ่น ป็อปคอร์น จะขายอยู่ที่ราคาถุงละ 35 บาท พริกทอดเคลือบผงใบกัญชา 100 บาท และพริกแกงผสมผงใบกัญญา กิโลกรัมละ 220 บาท ยาหม่อง 88 บาท ชากัญชา ชงร้อน ถุงละ 100 บาท น้ำต้มกัญชาพร้อมดื่ม ขายขวดละ 35 บาท ก๋วยเตี๋ยวกัญชา 59 บาท และเมนูกับข้าวผสมกัญชา เริ่มต้นที่ 60 บาท โดยเฉพาะน้ำต้มกัญชา เป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในวิสาหกิจชุมชน มียอดขายหลายพันขวดต่อเดือน สร้างรายได้ให้แก่คนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่ในภาคธุรกิจ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์11 พบว่า  มกราคม-พฤษภาคม 2564 มีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง มากกว่า 80 บริษัท ส่วนใหญ่แจ้งวัตถุประสงค์ ทั้งปลูก-แปรรูป ผลิตจำหน่าย นำเข้า-ส่งออก เมล็ดพันธุ์ สารสกัดจากกัญชา, การวิจัยพืชกัญชา พืชกัญชง, ที่ปรึกษาการออกแบบ ตรวจสอบ และติดตั้ง ระบบตรวจติดตามย้อนกลับในพืชกัญชา, การผลิตสารสกัด รับจ้างผลิตสารสกัด กัญชง กัญชา, การส่งออกนำเข้าผลิตภัณฑ์ สายพันธุ์ จากพืชกัญชง กัญชา เป็นต้น  ขณะที่ข้อมูลจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุ12 ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงแล้ว 31 คำขอ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 6 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 4 คำขอ, เวชภัณฑ์ที่มีสารสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ 3 คำขอ, เครื่องจักรและกรรมวิธีการสกัดจากกัญชา 11 คำขอ, อุปกรณ์หรือชุดทดสอบสารสกัดจากกัญชา 3 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ปล่อยสารระเหยจากกัญชา 2 คำขอ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่มีกัญชงเป็นองค์ประกอบ 2 คำขอ   โดยล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรไปแล้ว 2 คำขอ คือ กระถางผ้าเพาะปลูก และชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

จะเห็นได้ว่าการปลดล็อก กระท่อม กัญชง และกัญชง นั้นเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นสนับสนุนในระดับชุมชน สร้างอาชีพให้เกษตรกรโดยตรงจากการปลูก เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่นอย่างยางพารา  นำไปสู่การแปรรูปผลผลิตสร้างผลิตภัณฑ์ ส่งจำหน่ายในระดับธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม หรือส่งสกัดสารสำคัญเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามพบว่าการปลูกกัญชา และกัญชง ในระดับชุมชนยังมีเงื่อนไข หลายประการที่ส่งผลให้การขออนุญาตเป็นไปอย่างล่าช้า ภาครัฐไม่ได้อำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเต็มที่ และกลายเป็นผลกระทบได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ที่จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคา ความสามารถในการแข่งขันกับกัญชาหรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อการแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในประเทศที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชทั้ง 3 ชนิด ให้ทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อให้การผลักดัน กระท่อม กัญชง กัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนโดยแท้จริง


อ้างอิง 

  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/290/T_0033.PDF
  2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  (ฉบับที่2) พ.ศ. 2564 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/176/T_0045.PDF
  3. ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม: "ปลูกได้-กินได้-ขายได้" แต่ต้องอยู่ภายในกรอบ https://ilaw.or.th/node/5969
  4. ข้อมูลการใช้กัญชง/ กัญชาในต่างประเทศ ของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562  https://www.moac.go.th/foreignagri-news-files-431191791212
  5. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ,โอกาสและความท้าทาย สําหรับการส่งออก พืชกระท่อมสู่สหรัฐอเมริกา https://www.moac.go.th/foreignagri-news-files-432891791866
  6. โพสต์ทูเดย์,เมื่ออเมริกันต้องการ 'กระท่อม' เสรี https://www.posttoday.com/world/661414
  7. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, “กัญชา” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจไทย ได้หรือไม่? https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FB-Cannabis-14-01-20.aspx?fbclid=IwAR2kQJBoc6eNs1RHo6THkwT7C4ipdjHyKUfFiJMzALS2X8uSWzqwTbr6q9I
  8. อภ.รับซื้อช่อดอกกัญชาจากวิสาหกิจชุมชน เกรด A กก.ละ 4.5 หมื่น https://news.thaipbs.or.th/content/301623
  9. ฐานเศรษฐกิจ, 4 ม.ค.65,TIHTA ระดมทีมกำหนดราคากลางซื้อ-ขายกัญชง https://www.thansettakij.com/business/508919
  10. ผู้จัดการออนไลน์, 30 มิ.ย.64,ขายได้กระหึ่ม! วิสาหกิจชุมชนฯ อุทัยธานีปลูกกัญชาแปรรูปทั้งต้ม-ผัด-ทอด ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ https://mgronline.com/local/detail/9640000063358
  11. ประชาชาติธูรกิจ, 21 มิ.ย.64,ตระกูลดังโดดร่วมวงธุรกิจกัญชา “เจียรวนนท์-ธรรมวัฒนะ” ตั้งบริษัท https://www.prachachat.net/marketing/news-693958
  12. ไทยรัฐออนไลน์, 12 เม.ย.64,ต่อยอดนวัตกรรมสินค้ากัญชา-กัญชง "ขุมทรัพย์ใหม่" ธุรกิจไทยยุคโควิดhttps://www.thairath.co.th/business/market/2067479
     

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333