คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาะรณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้นช่อดอกกัญชงและกัญชา และเมล็ดกัญชาโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป มีรายละเอียด ดังนี้ 1. ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ไม่เป็นยาเสพติด 2. เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด เมล็ดกัญชง 3. สารสกัด CBD และในส่วนสาร THC ต้องไม่เกิน 2% ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด โดยการปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย เป็นต้น โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนปลูก สกัด ผลิตยังต้องขออนุญาต แต่หลังจากนั้นพวกวัตถุดิบที่เหลือ เปลือก ลำต้น เส้นใย ฯลฯ ที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด ผลิตเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ได้ประกาศยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ ทำให้ประชาชนสามารถปลูกและขายได้ บทความนี้เป็นการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของการ ปลดล็อกกัญชง กัญชา และกระท่อม อภิปรายถึงโอกาสของธุรกิจต่างๆ และกิจกรรมชุมชนที่เกิดขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร การแพทย์แผนไทย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัญชา กัญชง และกระท่อม ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 25221 โดยเฉพาะ “กัญชา” ที่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดมาตั้งแต่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 24682 หรือ 96 ปีมาแล้ว ส่วน “กระท่อม” มีการออกพระราชบัญญัติพืชกระท่อมขึ้นมาควบคุม ในปี 24863 ห้ามไม่ให้มีการเสพ ปลูกหรือ ขาย ขณะที่ “กัญชง” มิได้มีชื่ออยู่ในกฎหมายตั้งแต่ต้น แต่ถูกควบคุมในฐานะพืชที่เป็นตระกูลเดียวกันกับกัญชา และมีสารซึ่งเป็นสารเสพติดเดียวกัน4 (Tetrahydrocannabinol/THC) ต่างกันเฉพาะปริมาณของสารเสพติดที่กัญชงมีสาร THC ต่ำ เมื่อทั้งกัญชงและกัญชามีสารเสพติดจึงถือเป็นยาเสพติด
ในช่วงปี 2563 – 2564 ไทยได้ทำความรู้จักและมีความสนิทมักคุ้นกับพืช 3 ชนิดมากขึ้น ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ และทางเศรษฐกิจ มีการทยอยปลดล็อกบางส่วนของพืชทั้ง 3 ชนิด จนเกิดเป็นยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้แต่ อาหารและ เครื่องดื่ม ทำให้ประชาชน มีอาชีพ เข้าถึงโอกาสทางรายได้เพิ่มขึ้น จวบจนกระทั้งมีการ แก้ไขกฎหมาย ที่ทำให้ กัญชา กัญชง และกระท่อม ไม่ถูกระบุอยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับคุณประโยชน์ของ กัญชา กัญชง และกระท่อม จากปัจจัยทางการแพทย์ โดยเฉพาะสรรพคุณที่มีผลต่อการระงับอาการปวด และการใช้เป็นส่วนสำคัญของยารักษาโรค ในฐานะที่เป็นสมุนไพรไทย นำมาสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่เกี่ยวข้องกับ กัญชา กัญชง และกระท่อม มาตั้งแต่ ปี 2562 ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.25625 ที่ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ.2522 เปิดทางให้สามารถนำ กัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 5 ไปใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้รักษาโรคได้ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ทำให้ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2562 การปลดล็อกกัญชา กัญชง และกระท่อม จึงกลายเป็นนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง นำมาสู่การ แก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ อีกครั้ง ในปี 2563 และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.25646 ขึ้น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ถือเป็นพืชชนิดแรกที่ได้รับการปลดล็อกออกจากกฎหมายไทย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลที่มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ และเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน ทำให้มีการนำกระท่อมมาใช้ด้วยการเคี้ยวใบ การต้มทำน้ำกระท่อมหรือชากระท่อมดื่มได้ตามวิถีท้องถิ่น แต่ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 424/25647 ซึ่งยังห้ามใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหาร จึงยังไม่สามารถนำมาประกอบอาหารหรือต้มน้ำกระท่อมขายในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะยังเป็นความผิดตามกฎหมายอาหารและยาอยู่
ขณะที่ กัญชา และ กัญชง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 25648 ขึ้น โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาอยู่ภายใต้กฎหมายประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับเดียวกัน และมีการประกาศใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 24 ฉบับ ถูกยกเลิกไปด้วย นับตั้งแต่ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมาประกอบด้วย
ซึ่ง 1 ใน 24 กฎหมายที่มีการยกเลิกและมากำหนดรวมอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด นั้น คือ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้ กัญชา กัญชง และกระท่อม เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้ ระบุอยู่ในมาตรา 29 ของ ประมวลกฎหมายยาเสพติด แทนแต่ ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้ตัด กัญชา กัญชง และกระท่อม ออกจากการเป็นยาเสพติด ทำให้ยาเสพติดประเภทที่ 5 ไม่มีการระบุ กัญชา กัญชง และกระท่อม เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า9 ผลจากนโยบายและการผลักดันที่จริงจัง ทำให้ขณะนี้ในโรงพยาบาลหลักๆ ทั่วประเทศ ก็มีคลินิกกัญชาที่ให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง สารสกัดจากพืชกัญชาสามารถรักษา บรรเทาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้ และขณะนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งวิจัยพัฒนาเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งกัญชา กัญชง เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนโดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป จากเดิมต้องแอบใช้ แต่ต่อไปหากประชาชนใช้อย่างถูกวิธี เพื่อดูแลสุขภาพ ภายใต้กฎระเบียบที่สาธารณสุขกำหนด ก็สามารถใช้กัญชาได้ถูกกฎหมาย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นกรมการแพทย์แผนไทยฯ องค์การอาหารและยา (อย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันพืชสมุนไพรกัญชา กัญชง มาได้ระดับหนึ่งโดยปลดล็อกออกจากยาเสพติดควบคุมประเภทที่ 5 โดยต้น กิ่งก้าน ใบ ราก ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป และ ประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ในกฎหมายฉบับใหม่นี้ ไม่มีกัญชาและกัญชงเป็นพืชที่ผิดกฎหมายแล้ว ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายชื่อบัญชียาเสพติดฉบับใหม่ทั้ง 5 ประเภท โดยจะไม่มีกัญชาอยู่ในนั้น และกำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีทีเอสซีเกินกว่า 0.2% เท่านั้นจึงจะเป็นยาเสพติด แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัน สารสกัด ผลิตภัณฑ์สบู่ เครื่องสำอาง อาหารเสริมที่มีค่าทีเอสซีต่ำกว่า 0.2% สามารถใช้ได้ทั้งหมด และนี่ไม่ใช่มาตรฐานที่สาธารณสุขหรือประเทศไทยกำหนดขึ้นมาเอง แต่องค์การอนามัยโลกก็กำหนดด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์กัญชาให้มากที่สุด โดยได้ให้นโยบาย อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดูแลการอนุญาตปลูกรวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาขออนุญาตอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ฝากให้ทาง อสม. ไปแจ้งให้พี่น้องประชาชนในชุมชนได้ทราบว่าปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งมีคลินิกกัญชา เป็นการแพทย์แผนไทยทางเลือกในการดูแลประชาชน และหลังจากนี้ ยาที่ผลิตออกมาจากสารสกัดกัญชาจะนำมาใช้อย่างถูกต้อง อยู่ในบัญชียาหลักให้ประชาชนเข้าถึงได้ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลด้วย
เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ ติดตามต่อได้ในตอนหน้า ซึ่งเป็นภาคจบของเรื่องนี้กันค่ะ
อ้างอิง