ข่าวการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุด “โอมิครอน” (Omicron) ดับฝันคนไทยที่จะมีบรรยากาศคึกคักช่วงปลายปี 2564 หลังจากบรรยากาศอันมืดมนที่ปกคลุมประเทศไทยเกือบตลอดทั้งปี และการต่อสู้อันสาหัสเพื่อเสาะแสวงหาวัคซีนให้เพียงพอ และรณรงค์การฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย
ถ้าเป็นสังเวียนมวย ก็เหมือนได้ยินเสียงระฆังยกห้า แต่กรรมการบอกให้ชกต่อทั้งที่ร่างระบมไปหมดแล้ว
นอกจากนี้ การมาของสายพันธุ์โอมิครอนเป็นการกรายๆ ว่า โควิด-19 ยังทำศึกเป็นฝ่ายรุก และโลกทั้งโลกยังไม่สามารถระดมสรรพกำลังวางแผนดักหน้าและตีกรอบการโจมตีของเจ้าเชื้อโรคหน้าใหม่นี้ได้ เราเพียงแค่สาละวนวิ่งตามแก้ปัญหาการโจมตีด้วยวัคซีนที่ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง...เป็นสภาพสมรภูมิที่ยังแก้เกมได้ยาก
เมื่อปี 2563 โลกทั้งโลกเชื่อว่าการการค้นคว้าเพื่อสร้างวัคซีนจะเป็นหนังม้วยเดียวจบ แม้หนังเรื่องนี้จะฉายเรื่องการค้นคว้าวัคซีนที่ใช้เวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ตอนท้ายของเรื่องมีประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนหลากยี่ห้อและรายละเอียดอันซับซ้อนเกี่ยวกับสูตรไหน ใช้ได้กับคนอายุเท่าไหร่ ชายหรือหญิง สร้างความวุ่นวายใจให้กับคนทั่วโลกที่ต้องทำใจรับความเสี่ยงเพื่อฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น “สูตรไขว้” หรือ “สูตรเสมอ”
มิหนำซ้ำการกลายพันธุ์ในปี 2563 เป็นแอลฟา ที่พบในประเทศอังกฤษ เบตา ในแอฟริกาใต้ แกมมา ในบราซิล และเดลตา ในอินเดีย ซึ่งแม้จะได้รับชื่อ เดลตา อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 แต่มีการค้นพบในอินเดียแล้วตั้งแต่ปลายปี 25631 การกลายพันธุ์ทั้งหมดนี้เพิ่มความซับซ้อนในเงื่อนไขของการฉีดวัคซีนขึ้นไปอีก
คำถามสำคัญคือ เราพอจะคาดประมาณการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่ เพื่อเราจะได้เตรียมการรับมือเชิงรุก และไม่ใช่รอรับการ “เซอร์ไพรส์” จากโควิด-19 แต่เพียงฝ่ายเดียว
คำตอบคือ แม้การศึกษาด้านไวรัสวิทยาจะมีพัฒนการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การกลายพันธุ์ของกรดนิวคลีอิก (Ribonucleic acid: RNA) เกิดขึ้นอย่างไม่มีแบบแผน (Random)2 โดยทุกครั้งที่เชื้อแพร่เข้าสู่ร่างกายใหม่จะมีการขยายจำนวนพร้อมไปกับการปรับพันธุกรรม และแม้โดยปกติแล้วโคโรนาไวรัสทั่วไปจะมีอัตราการกลายพันธุ์ค่อนข้างช้า แต่โควิด-19 กลับมีการกลายพันธุ์ที่เร็วกว่าปกติ ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่มนุษย์จะเปิดฉากรุกใน “เกมกลายพันธุ์” นี้ ทำได้ยาก...ตราบเท่าที่ยังมีการแพร่เชื้อเข้าสู่คนใหม่ การกลายพันธุ์ก็จะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
ขณะนี้มีความพยายามในการพัฒนาอัลกอริธึมซึ่งเป็นชุดคำสั่งสำหรับเครื่องจักรเรียนรู้ (Machine learning) เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สามารถคาดเดารูปแบบและระยะเวลาที่ใช้ในการกลายพันธุ์ของโควิด-19 โดยศาสตราจารย์ Bryan Bryson แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT)3 ซึ่งการพัฒนายังไม่สำเร็จ แต่แม้ที่สุดจะสำเร็จก็ไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่า ทางเดียวที่จะหยุดการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ได้ คือการปิดโอกาสที่โควิด-19 จะเข้าสู่ร่างใหม่และขยายปริมาณซึ่งจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์
การจะทำเช่นนั้นได้จะต้องใช้มาตรการกักตัว และหยุดยั้งการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น จนไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย ซึ่งที่สุดไม่เพียงแต่ไวรัสเท่านั้น แต่ทั้งสังคม และเศรษฐกิจ ก็อาจตายไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิง