ในพ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ด้านร้ายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารไฮเทครูปแบบต่างๆ ทำให้สังคมไทยเริ่มหันมามองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจเท่าไรนัก แต่ในยุคสมัยที่มือถือคืออุปกรณ์พื้นฐานที่แทบทุกคนมีไว้ติดตัว อินเตอร์เน็ตคือเครื่องมือสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลและทางลัดสู่โลกกว้าง ปรากฏการณ์ “คลิปฉาว แชทเสียว และแคมฟร็อก” คงไม่ได้มีสาระสำคัญเพียงแค่การตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะควรหยุดยั้งหรือก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวไกลหรือไม่เท่านั้น หากแต่ต้องยอมรับความจริงไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตามว่า ขณะนี้คนรุ่นใหม่กำลังใช้ชีวิตอีกด้านของพวกเขาในแบบที่เรียกว่า “ออนไลน์”
พฤติกรรมการใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่กำลังกลายเป็นลมหายใจของคนไทยจำนวนหลายล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนไทย ดังรายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศประจำปี 2549 พบว่ามีผู้ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 15.4 ล้านคน หรือร้อยละ 26 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8.47 ล้านคน หรือร้อยละ 14 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปีใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ การสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามถึงประเภทของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในครัวเรือนด้วย ซึ่งพบว่าครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้อินเทอร์เน็ตประเภทความเร็วสูงมากที่สุดถึงร้อยละ 52.8
ส่วนศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติสำรวจข้อมูลผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2548 พบว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 21 โดยใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 9.2 ชั่วโมง และพบว่าเว็บไซต์บันเทิงเป็นเว็บไซต์ที่เด็กและเยาวชนเข้าไปดูมากถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับร้อยละ 2 ของการดูเว็บไซต์เพื่อการศึกษาในด้านของโทรศัพท์พื้นฐาน พบว่าจำนวนผู้ขอใช้เลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับจำนวนโทรศัพท์สาธารณะต่อประชากร ที่สำคัญคืออัตราการใช้โทรศัพท์มือถือที่ก้าวกระโดดจากร้อยละ 22.5 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 36.7 ในปี 2548 ในปี 2549 เมื่อมีการสำรวจประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่าผู้มีโทรศัพท์มือถือ (ไม่รวมเครื่อง PCT) ทั่วประเทศ มีจำนวน 24.74 ล้านคน หรือร้อยละ 42
จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลกระทบเชิงลบจากการใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ จะเปิดเผยตัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประโยชน์ที่สังคมได้รับ ในรอบปี 2549-2550 การสื่อสารไฮเทคที่ตกเป็นข่าวฮือฮาแกมหวือหวา คือ การสนทนาออนไลน์ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “แชท”(chat) การถ่ายและเผยแพร่ “คลิปวิดีโอ”(video clip) โดยเฉพาะที่มาแรงแซงโค้งคือ โปรแกรมอินเตอร์เน็ต “แคมฟร็อก”(camfrog)
การสนทนาออนไลน์ หรือแชท แบ่งอย่างกว้างได้ 2 ประเภทคือ ห้องสนทนา (chatroom) ที่มีอยู่ตามเว็บไซต์ต่างๆ กับโปรแกรมสนทนาสำเร็จรูปที่ติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งมีหลายโปรแกรม แต่ที่ฮิตที่สุดคือ โปรแกรมเอ็มเอสเอ็น (MSN Messenger) การสนทนาออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่งข้อความถึงกันและกันได้แบบสดๆ ร้อนๆ เรียกว่าวินาทีต่อวินาที จึงเป็นที่นิยมค่อนข้างสูงในหมู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
ในเดือนพฤษภาคม 2549 ก็ปรากฏข่าวช็อคสังคมไทยให้ต้องหันมาสนใจการสนทนาออนไลน์ คือ เหตุการณ์ครูสอนภาษาอังกฤษจากอุบลราชธานีถูกฆ่าตายและหั่นศพเป็นสองท่อนใส่กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ไปแยกทิ้งตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเพื่อทำลายหลักฐาน ครูสาวคนนี้รู้จักคนร้ายโดยการสนทนาผ่านโปรแกรมสนทนาออนไลน์ หลังจากนั้นจึงนัดพบกันที่กรุงเทพฯ และต่อมาถูกทำร้ายถึงชีวิตโดยคนในครอบครัวต่างไม่มีใครรู้จักคนร้ายคนนี้มาก่อน ความเหี้ยมโหดของคนร้ายไม่ได้เป็นจุดสนใจของสาธารณชนมากเท่าความสงสัยที่ผู้คนมีต่อครูผู้ถูกทำร้ายว่าเหตุใดเธอจึงกล้าเดินทางมาพบคนแปลกหน้า กระแสความคิดเห็นในเว็บบอร์ดต่างๆ ถึงกับฟันธงว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะผู้หญิงไม่ดี หวังได้แฟนฝรั่งจึงเดินทางมาหาผู้ชายทำให้เกิดเหตุร้าย ขณะที่อีกกระแสพุ่งเป้าไปที่การสนทนาออนไลน์ ว่าเป็นสิ่งอันตรายเพราะกลายเป็นเครื่องมือของการล่อลวง
ถัดมาอีกไม่นานมีข่าวตอกย้ำกระแสหวาดวิตกที่สังคมมีต่อการแชท เมื่อนักศึกษาหญิงคนหนึ่งเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีพระที่ล่วงละเมิดทางเพศหลังจากรู้จักกันผ่านโปรแกรมแชท ซึ่งฝ่ายชายได้หลอกลวงว่าเป็นนักศึกษาเช่นเดียวกัน และออกอุบายให้ฝ่ายหญิงเดินทางไปพบที่วัด แล้วขู่ว่าจะเรียกเพื่อนมารุมโทรมหากฝ่ายหญิงไม่ยอมหลับนอนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการแชทผ่านเครื่องโทรศัพท์ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือในระบบออดิโอเท็กซ์ เช่น “แชทไลน์ โทร 1900-1900-xxxx”, “1900 xxx xxx สายคลายเหงา, “จีไลน์ สายสีม่วง 1900 xxx xxx, “มาคุยกับพวกเรานะคะ...จุ๊บ...จุ๊บ 1900 xxx xxx” เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ทุกประเภทแล้วจะเห็นได้ว่าบริการแชทในลักษณะนี้มีฐานตลาดที่กว้างกว่าการแชททางอินเตอร์เน็ตมาก ถึงกลางปี 2549 ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ของมูลนิธิกระจกเงาเปิดเผยว่า มีเด็กสาวถูกล่อลวงหายออกไปจากบ้านหลังจากมีการแชทผ่านระบบโทรศัพท์นี้ รวม 12 คน ล้วนเป็นเด็กผู้หญิงอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 15 ปี และพบว่าจำนวนเด็กถูกล่อลวงจากการเล่นแชทไลน์ในระบบออดิโอเท็กซ์มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
วิดีโอคลิป หรือภาพยนตร์สั้นที่มักถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว การเผยแพร่คลิปวีดีโอของเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งเรื่องนักเรียนหญิงตบกัน คลิปแฉที่เปิดโปงความสัมพันธ์ คลิปส่วนตัวที่หลุดออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ และคลิปแบล็คเมล์ กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอต่อสังคมบ่อยครั้งตลอดปี 2549
คลิปแอบถ่าย คลิปหลุด ช่วงกลางปีมีข่าวการเผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์รุมโทรมนักเรียนหญิง 2 คนโดยนักเรียนชาย 5 คน มีความยาวประมาณ 3 นาทีในจังหวัดแห่งหนึ่งของภาคกลาง ถัดมาอีกไม่ถึงเดือนก็ปรากฏข่าวคล้ายคลึงกันโดยเป็นการรุมโทรมนักเรียนหญิงโดยเพื่อนนักเรียนชาย แล้วมีการแอบถ่ายคลิปวิดีโอไว้และนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรงเรียน พอถึงปลายปีก็มีข่าวน่าสลดใจเมื่อเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถูกรุ่นพี่อายุ 14 และ 17 ปีข่มขืนและแอบถ่ายคลิปวิดีโอไว้ในโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปขายให้ร้านรับโหลดคลิปย่านสำเพ็ง